update newsข่าวเด่นศาสนาไลฟ์สไตล์

รายงานพิเศษ

***หากเอ่ยถึงคัมภีร์ใบลานแล้ว ต้องยกให้วัดสูงเม่น จ.แพร่ ขึ้นชื่อว่ามีมากที่สุดในโลก มีถึง 1,700 มัด นับเป็นผูก 23,000 ผูก นับเป็นใบ 620,000 ใบ นับเป็นอักขระธัมม์  372,000,000 ตัว

***คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น คือเอกสารบันทึกคำสอนเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆเช่น หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ ตำหรับยารักษาโรค ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่บันทึกคำสอนไว้

***จัดเป็นหมวดหมู่ภายในหอพระไตรปิฏก และต่อได้จัดทำตั้งเป็นสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น โดยมี พระครูปัญญาสารนิวิฐ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น เป็นผู้จัดการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน

พระครูวิบูลสรภัญ(ฉัตรเทพ)  ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น จ.แพร่ บอกว่า สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น จ.แพร่  เกิดจากการสนองงาน ตามพระราชดำรัสของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

***ที่พระองค์เสด็จมาวัดสูงเม่น เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้ทรงเสด็จอัญเชิญคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฏกจากหอธัมม์หลังเดิม ขึ้นสู่หอพระไตรปิฏกหลังใหม่ ของวัดสูงเม่น เมื่อวันที่ 11มีนาคม พ.ศ.2557 และทรงได้ตรัสเกี่ยวกับวัดสูงเม่นว่า

***ขอให้ทางวัด ร่วมกับ ชาวบ้าน  และ ชุมชน อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานลักษณะเช่นนี้ต่อไป เพราะทำได้ดีมาก เป็นตัวอย่างที่อื่นได้ เพราะคัมภีร์ใบลานที่นี่มีมาก และ เป็นของมีค่ามาก อยากให้มีการทำเป็นแหล่งเรียนรู้  สอนภาษาล้านนา และ เผยแผ่วิธีการอนุรักษ์ โดยเฉพาะ ประเพณีตากธัมม์ไปยังทั้งพระภิกษุ สามเณร และ ประชาชน ได้รู้แล้วเข้าใจ จะได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์และสมบัติของชาติต่อไป” 

***.ด้วยพระราชดำรัสดังกล่าว ทางคณะกรรมการวัดสูงเม่น นำโดย นายสมหวัง พ่วงบางโพ นายอำเภอสูงเม่น (ปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่)  และอาจารย์วันเพ็ญ แก้วกัน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเม่น  จึงได้ประชุมกับชุมชนและมีมติ…

***ให้ยกระดับ  ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม วัดสูงเม่น  ขึ้นเป็น แหล่งเรียนรู้เฉพาะทางด้านคัมภีร์ใบลาน ของวัดสูงเม่น  ภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์สถานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ.2558

***จากนั้นมีการปรับปรุงพัฒนาวัด ภายใต้ธีม เมืองคัมภีร์ธัมม์โบราณ  โดยปฏิรูป ปรับภูมิทัศน์  และ สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ใบลาน  และ หลวงปู่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร

***โดยได้เริ่มจัดทำแหล่งเรียนรู้ด้านคัมภีร์ใบลานแบ่งเป็น หอธัมม์ ต่าง ๆ จำนวน 3 หอ  คือ หอมนุษย์  หอฟ้อ และ หอนิพพาน และ จัดให้มีห้องฟังบรรยาย ห้องอบรมการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน  เป็นต้น

*** และ ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2558 มีการเปิดตัวสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่นอย่างเป็นทางการ และจังหวัดแพร่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น  ให้ พระครูปัญญาสารนิวิฐ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น เป็นผู้จัดการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ได้มีการวางแผน และ ปฏิบัติงานตามแผนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการด้านกาอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะใน พ.ศ.2559

***คัมภีร์ใบลานของวัดสูงเม่น ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยส่วนท้องถิ่น จาก ยูเนสโก ประเทศไทย เป็นแห่งเดียวของจังหวัดแพร่ ทำให้ มีคณะต่าง ๆ มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

***สร้างกระแส การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของที่ต่างๆ มีผู้สนใจ จากทั่วโลกได้เข้ามาชม และ ทำกิจกรรมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานตลอดปี จนสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดแพร่  ในนามของ “เมืองพระธัมม์ล้านนา ของโลก” เพราะ วัดสูงเม่น เป็น วัดที่มีคัมภีร์ใบลานล้านนา มากที่สุดในโลก

***ปัจจุบัน สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น เป็นสถานที่ศึกษา และ แหล่งท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน  และ ยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการเป็น ศูนย์วัฒนธรมเฉลิมราช  วัดสูงเม่นของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อีกด้วย

มณี  ม่วงทอง/รายงาน