update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศ

จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดพิธีบวงสรวงสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ในการจัดงานพระยาพิชัยดาบหักและกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2565

*****อุตรดิตถ์..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายผล ดำธรรม ผวจ.อุตรดิตถ์ ประธานจัดพิธีบวงสรวง พิธีสงฆ์ และร่วมพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2565 พร้อมด้วย นางวันทนา  ดำธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ และนายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รอง ผวจ. นายพยงค์ ยาเภา รอง.ผวจ. พล.ต.ต.สุทธิพงศ์  เป๊กทอง ผบก.ภ.จว.อุตรดิตถ์. พ.อ.ทรงยศ  ทองก้อน  รอง ผอ. รมน.จ.อุตรดิตถ์ (ท)นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการประชาชนชาว คณะเครือญาติพระยาพิชัยดาบหัก ร่วมประกอบพิธีเมื่อเช้าวันที่ 7 ม.ค.65

*****จากนั้นนายผล ผู้ดำธรรม ผวจ.อุตรดิตถ์ ประธานไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ วางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ต่อด้วยพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ พิธีไหว้ศาลเพียงตา ตามลำดับ เป็นการระลึกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญของพระยาพิชัยดาบหัก และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้การจัดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2565 สำเร็จลุล่วงตลอดการจัดงาน ระหว่างวันที่ 7-16 ม.ค.65

*****ขณะเดียวกันนายผล กล่าวสดุดีเกียรติคุณพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยตลอดจนทหารกล้าทุกท่าน ผู้พลีชีพรักษาแผ่นดินไว้จนดำรงความเป็นชาติไทยถึงปัจจุบัน41 ปี แห่งชีวิตของวีรบุรุษผู้กล้าพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งถือกำเนิด ณ บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 281 ปี ที่ผ่านมาพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งมีนามเดิมว่า “จ้อย” หรือ “ทองดี” เป็นนักรบผู้เชี่ยวชาญในการออกศึกทุกรูปแบบและเป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมที่ชาวอุตรดิตถ์ต้องน้อมรำลึกถึง และถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตน

*****โดยเฉพาะคุณธรรมอันโดดเด่นในเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ความวิริยะ อุตสาหะ ความขยันหมั่นเพียร และความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว จากเด็กชายจ้อย ลูกชาวนาแห่งบ้านห้วยคาเมืองพิชัย ผู้ชื่นชอบการชกมวยมาแต่เด็ก จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือพระยาตากสินเจ้าเมืองตาก ในขณะนั้นจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา เจ้าหมื่นไวยวรนาถ และพระยาสีหราชเดโช ตามลำดับตำแหน่งสุดท้ายได้กลับมาปกครองแผ่นดินเกิด คือ เจ้าเมืองพิชัย ดังความบางตอนที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาสมัยกรุงธนบุรี พุทธศักราช 2310 – 2342

*****ความว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบปรามเจ้าพระฝางยึดได้เมืองพิษณุโลกสวางคบุรี จัดการบ้านเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้วเสด็จกลับมายังเมืองพิษณุโลก กระทำการสมโภชพระมหาธาตุ พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์สามวันแล้วปูนบำเหน็จผู้กระทำความชอบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งพระยาสีหราชเดโช (จ้อยหรือทองดี) เป็นพระยาพิชัย ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ ไพร่พล 9,000 คน มีอำนาจประหารชีวิตผู้มีความผิด พระราชทานเครื่องยศเสมอด้วยพระยาสุรสีห์ ณ วันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ พุทธศักราช 2313”

*****ต่อมาพุทธศักราช 2315 พระยาพิชัยและทหารกล้าได้สู้รบกับทัพพม่าที่ยกมาถึงเมืองลับแล พระยาพิชัยสามารถป้องกันเมืองไว้ได้และทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปพุทธศักราช 2316 โปสุพลา แม่ทัพพม่านำทัพยกมาตีเมืองพิชัยอีกครั้ง พระยาพิชัยยกไพร่พลออกไปรบนอกกำแพงเมือง สองมือถือดาบมั่นสู้กับทัพพม่าแบบตะลุมบอล จนดาบหักไปข้างหนึ่ง ณ บริเวณทุ่งวัดเอกา อำเภอพิชัย เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 2316 จนกองทัพพม่าแตกพ่ายหนีไปอีกครั้งหนึ่งจึงได้รับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” แต่นั้นมาจวบจนวันนี้นับเป็นเวลา 248 ปี ตลอดระยะเวลาในการร่วมทำสงครามกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลวงพิชัยอาสาได้ร่วมตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากค่ายวัดพิชัยสงครามกรุงศรีอยุธยาจวบจนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระยาพิชัยดาบหัก เป็นทัพหน้าของทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาโดยตลอด

*****ด้าน นางวันทนา  ดำธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ และนายชลิต ธนวัฒน์ รอง นายก อบจ.อุตรดิตถ์ แถลงข่าวในการจัด การประกวดนางสาวอุตรดิตถ์และการประกวดขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ในงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ว่าเพื่อให้งานได้รับความสนใจและช่วยเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานการดำเนินกิจการเหล่ากาชาด และกิ่งกาชาดอำเภอ ให้สามารถสนับสนุนภารกิจของสภากาชาดไทย ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับมอบหมายจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ดำเนินการจัดการประกวดนางสาวอุตรดิตถ์และการประกวดขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ.เวทีกลางงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ และในรอบตัดสิน (คืนวันที่ 13 มกราคม 2565)

*****โดยมีจำนวนสาวงาม ที่สมัครเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ จำนวน  26 ราย จำนวนขุนศึกฯ ที่สมัครเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ จำนวน 14  ราย ผู้เข้าประกวดในรอบเดินโชว์แนะนำตัวให้สื่อมวลชนและคณะกรรมการ สาวงามผู้เข้าประกวดแต่งกายชุดราตรีสีขาว /ขุนศึกแต่งกายสวมชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวและสวมกางเกงสแล็ค ส่วนในรอบตัดสิน “นางสาวอุตรดิตถ์ ” ผู้เข้าประกวดสวมชุดผ้าไทยผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ แบบเกาะอกผ้าซิ่น และ “ขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก แต่งชุดขุนศึก”

*****สำหรับ เงินรางวัลและของรางวัลของผู้เข้าประกวด นางสาวอุตรดิตถ์ ได้รับเงินสด 20,000บาท พร้อมถ้วยรางวัล มงกุฎและสายสะพาย รองนางสาวอุตรดิตถ์ อันดับ 1 ได้รับเงินสด 15,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และสายสะพาย รองนางสาวอุตรดิตถ์ อันดับ 2 ได้รับเงินสด 10,000 บาทพร้อมถ้วยรางวัล และสายสะพาย- ขวัญใจมหาชน ได้รับเงินสด 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และสายสะพาย- ขวัญใจสื่อมวลชน ได้รับเงินสด 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และสายสะพาย

*****ส่วนขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ได้รับเงินสด 10,000.บาท สายสะพายพร้อมถ้วยรางวัล- รองอันดับ 1 ขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ได้รับเงินสด 7,000.บาท สายสะพายพร้อมถ้วยรางวัล- รองอันดับ 2 ขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ได้รับเงินสด 5,000.บาท สายสะพายพร้อมถ้วยรางวัล ทั้งนี้สำหรับในการจัด การประกวดนางสาวอุตรดิตถ์และการประกวดขุนศึกคู่ใจท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ในงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ในครั้งนี้ ผู้ประกวดต้อง ฉีดวัคซีน 2 เข็ม และก่อนเช้าประกวดจะต้องตรวจคัดกรอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19ทุ่งครั้งอีกด้วย

ประสิทธิ์ ผึ้งสุข/รายงาน