29 มีนาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเกษตรข่าวเด่นเศรษฐกิจ

สถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม ส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม ปลูกปอเทืองเกือบ 5 พันไร่ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดสร้างรายได้ และผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ส่งเสริมในปีถัดไป

*****มหาสารคาม..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายชูเกียรติ  คำโสภา ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม กล่าวว่า ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดเป็นนโยบายของกรมพัฒนาที่ดินโดยให้เกษตรกรยืมเมล็ดพันธุ์ไปใช้ปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์คืนธนาคาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญในการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยพืชสดและการขยายผลเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจากการใช้ปุ๋ยเคมีและลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อฟื้นฟูปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้นและรักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ดี

*****ในปีพ.ศ. 2566 สถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคามได้จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดที่บ้านเหล่าพ่อหา หมู่ที่ 9,13,18 ตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายวสันต์ ด้วงคำจันทร์ หมอดินอาสาตำบลเขาไร่เป็นประธานกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 30 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งยังมีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจปลูกปอเทืองในฤดูกาลถัดไปอีกจำนวนมาก สถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคามสนับสนุนให้มีการปลูกปอเทืองทั้งจังหวัด  จำนวน 15,000 ไร่

*****ด้าน นายวสันต์  ด้วงคำจันทร์ หมอดินอาสาตำบลเขาไร่  กล่าวว่า ปัญหาการทำนาข้าวในพื้นที่ตำบลเขวาไร่ เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน หากทำนาปรัง จะเพิ่มต้นทุนการผลิตที่สูง จะหันมาปลูกปอเทือง จากที่มีเกษตรกรทำมา  10 ครัวเรือน ปัจจุบันมีเกือบ 40 ครัวเรือน มีรายได้ต่อครัวเรือนตั้งแต่ 20,000 – 70,000 บาท หรือ 3,500 บาทต่อไร่ ทำการปลูกหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ

*****สำหรับ ปอเทือง เป็นพืชตระกูลถั่วเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ ทนต่อความแห้งแล้งและเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ปอเทืองยังสามารถสร้างธาตุอาหารขึ้นเองได้ โดยเฉพาะไนโตรเจน จึงสามารถปลูกเป็นพืชปุ๋ยสดเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี  ทางสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคามจึงมีการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกษตรกรปลูกเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินรวมไปถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป  โดยสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคามได้มีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ปอเทืองในหลายด้านเช่นการสนับสนุนการสาธิตให้เกษตรกรนำปอเทืองไปปลูกเพื่อใช้เป็นพืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน และการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทืองเพื่อเป็นการหมุนเวียนในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนและเป็นการเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชหลังนา นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาของกลุ่มเมล็ดพันธุ์ไปสู่การสร้างเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดด้วย