28 มีนาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นพาณิชย์เศรษฐกิจ

ชี้ห่วงโชวห่วย ค้าปลีก ไม่ปรับตัวหลังโควิดอยู่ยากแน่

***กรุงเทพฯ…นายวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวบรรยายในงานสัมมนา จับสัญญาณธุรกิจโชวห่วย หลังโควิดจะรุ่งได้อย่างไร จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยนายวรวุฒิ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบ และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกประมาณ 6 เดือน และในช่วงเวลาดังกล่าวเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาอีก ดังนั้นผู้ประกอบการรายย่อย โชวห่วย จึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง

***ทั้งนี้มองว่า ธุรกิจโชวห่วยในวันนี้กับเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วไม่แตกต่างมากนัก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่เปลี่ยนเป็นโมเดิร์นเทรดกันหมดแล้ว  แต่ในประเทศไทยมีแต่จะลดจำนวนลงด้วยหลายปัจจัย เช่น คนรุ่นใหม่ไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการซื้อขายมากนัก ร้านค้าปลีกจำนวนมากไม่มีระบบบัญชีที่ดี ทำให้ไม่สามารถคำนวณต้นทุนที่แท้จริงได้

***นอกจากนี้ผู้ประกอบการไม่ยอมเปลี่ยนมายด์เซ็ทระบบความคิด ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้การขยับขยายทำได้ลำบาก เช่น การปรับเปลี่ยนการจัดวางสินค้าให้ต่อเนื่องอย่าให้ขาด เพิ่มความสะอาด จัดหมวดหมู่สินค้าเพื่อให้รู้ว่าอะไรควรขายพ่วงกันเพื่อเพิ่มยอดซื้อ ลูกค้าจะได้ซื้อสินค้าได้ครบจบในร้านเดียว สินค้าบางอย่างสามารถใช้เทคโนโลยีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเข้ามาช่วย เพื่อจำหน่ายในช่วงเวลากลางคืนไม่จำเป็นต้องจ้างคนเฝ้าร้าน กล้องวงจรปิด ระบบความปลอดภัยป้องกันสินค้าสูญหายจำเป็นต้องมี

***อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรหาโอกาสในช่วงวิกฤต เช่นในปี 2540 ตนเป็นคนแรก ๆ ที่ขายผ่านเว็ปและเพิ่มสินค้าใหม่ เติมเข้าไปในร้าน จากเดิมที่ขายเพียงเครื่องเขียนก็เพิ่ม ชา กาแฟ น้ำยาถูพื้น ต่อมาสามารถทำยอดได้มากกว่าเครื่องเขียนด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ตนเป็นเจ้าเดียวที่ใช้เรือส่งสินค้า ขณะเดียวกันก็ประเมินแล้วว่าหลังน้ำลดเฟอร์นิเจอร์จะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง ตนจึงไปสต็อคไว้เป็นจำนวนมาก และก็เป็นไปตามคาดการณ์คือขายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว การวางแผนล่วงหน้าและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เช่นเดียวกับจีน ที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นทั่วโลก เนื่องจาก รัฐบาลบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีความเข้มงวด และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนภาคการผลิตในประเทศได้เดินหน้าผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

***“อีก 6 เดือนข้างหน้า เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราอย่าวิ่งตามลูกบอล เพราะเราไม่มีทางวิ่งไล่ทัน เราต้องวิ่งไปดักลูกบอล และรู้ว่าลูกบอลจะไปทางไหน เพราะนั่นเราจะเห็นโอกาส ผู้ประกอบการฯ ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต รีสกิล อัพสกิล ต้องระลึกเสมอว่า ปีนี้เราจะรู้อะไรมากขึ้น ทำอะไรมากขึ้น E-Payment มาแน่”นายวรวุฒิ กล่าวและว่าธุรกิจเกี่ยวกับการจัดส่งจะโตทั้งอุตสาหกรรม กลยุทธ์ KOL เปลี่ยนยอดไลค์ เป็นยอดขาย พูดอะไรคนก็เชื่อ จะเป็นกองทัพนักขายช่วยแก้วิกฤตได้

***อีกทั้งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ เพื่อคนตัวเล็ก สร้างโอกาส ติดอาวุธ ให้แต้มต่อ คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ เช่น เรื่องอัตราเงินกู้ของคนตัวเล็กที่แพงกว่าคนตัวใหญ่ เช่น แม่ค้า street food ดอกเบี้ย ร้อยละ20 ต่อวัน หรือการผลักดันการขายออนไลน์ ส่งสินค้าขายออนไลน์ มีโควต้า ฟรีค่าส่ง เป็นต้น ที่ผ่านมานโยบายของเราไม่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็ก  แต่ให้ความสำคัญกับคนตัวใหญ่ ทั้งที่คนตัวใหญ่โตยาก แต่การพัฒนาคนตัวเล็กให้สำเร็จ คนตัวใหญ่ก็จะสบายเพราะคนตัวเล็กก็คือลูกค้าของคนตัวใหญ่นั่นเอง” นายวรวุฒิ กล่าว

***อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวด้วยว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย และโชวห่วย ซึ่งมีอยู่เป็นล้านแห่งทั่วประเทศ ควรต้องรวมกันให้แน่นอย่าอยู่เดี่ยว เพราะโอกาสที่จะล้มมีสูง ดังนั้นจึงขอเสนอรัฐบาลให้จัดตั้ง สภาเอสเอ็มอี ขึ้นมา เพราะปัจจุบัน แม้จะมี สมาคมเอสเอ็มอี สมาพันธ์เอสเอ็มอี ก็เป็นเหมือนคนตัวเล็กที่ไปแฝงอยู่กับ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมซึ่งเป็นคนตัวใหญ่ ทั้งที่มีสมาชิกหลายล้านราย เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ แต่ศักดิ์ศรีเหมือนคนตัวเล็กที่ไม่มีเสียงที่จะส่งตรงถึงรัฐบาลว่า เราต้องการความช่วยเหลือ และเป็นโครงการอย่างยั่งยืน เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง เราต้องมีแต้มต่อ ที่จะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ การจัดตั้งก็ขอให้ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี และศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับ สภาหอกการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาดิจิทัล ที่มีเงินสนับสนุนทางกฎหมาย