เบเกอรี่สุดฮิตจากทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทำด้วยใจ ลูกค้าทุกคนคือญาติสนิท ต้องการให้ลูกค้าได้รับความประทับใจ
*****ศรีสะเกษ..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66 เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้าน “บ้านสีส้มเบเกอรี่” เลขที่ 42 ม.9 ต.หนองฉลอง อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ หลังทราบว่าทำคุ๊กกี้ทุเรียนภูเขาไฟ ได้พบกับนายธรรมศักดิ์ เรืองชัยจตุพร อายุ 39 ปี ที่ทำธุรกิจในครอบครัว เริ่มแรกทำคุ๊กกี้สูตรของร้านจากข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จากนั้นได้คิดค้นสูตรขนมใหม่ๆ มาเรื่อยๆ กระทั่งถึงเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อในรสชาติ อร่อย มีความหวานมัน เนื้อสัมผัสแห้งเนียนเหนียว กลิ่นหอมละมุน สีเนื้อเหลืองสวย นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในส่วนผสมของขนมต่างๆภายในร้าน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจ นิยมทานจากลูกค้า
*****นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เดิมทีตนและภรรยาริเริ่มเปิดร้านเบเกอรี่มาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทำหลายรูปแบบ ได้แก่ เค้กรสต่างๆ ขนมปัง เพราะในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ที่ตนอยู่นี้ ไม่มีร้านเบเกอรี่ที่ใช้วัตถุดิบหลักในพื้นที่ และผลิตโดยไม่มีการใช้สารกันบูด ภรรยามีความสุขในการทำเบเกอรี่และมีความถนัดอย่างมากๆ โดยได้รับคำแนะนำ จากอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ และจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่7 นำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปให้มีความเป็นขนมสากลระดับโลก คิดค้นว่าทำอย่างไรขนมจะเป็นสากลจากวัตถุดิบในพื้นที่ จึงเริ่มตั้งโจทย์จากวัตถุดิบอย่างข้าวหอมมะลิแท้ของอำเภอขุขันธ์มาแปลรูปเป็นคุ๊กกี้รสต่างๆ นำกระเทียมศรีสะเกษมาทำขนมปังอบกระเทียม
*****หนุ่มเจ้าของร้านคุ๊กกี้ทุเรียนภูเขาไฟ กล่าวต่อว่า อีกอย่างในพื้นศรีสะเกษมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศคือ “ทุเรียนภูเขาไฟ” เราจึงได้นำทุเรียนหมอนทอง ปลูกจากดินภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่เป็นวัตถุดิบตามฤดูกาล ทำเป็นขนมเปี๊ยะทุเรียนลาวา ทำเป็นขนมปังสอดไส้ คุกกี้สอดไส้ ขนมปังอบกรอบ และขนมทุเรียนทองขุขันธ์ ตนเปิดร้านมา 3 ปี มีรายได้โดยเฉลี่ย ปีละประมาณ 400,000 บาท
***** “ขนมจากร้านของตน ยังได้มีโอกาส ใช้เลี้ยงรับรองต้อนรับแขกต่างประเทศ ขณะนั้นเป็น อัครราชทูตโอบะ ยูอิจิ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะ ที่เดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดศรีสะเกษเมื่อปี 2565 ซึ่งทางร้านได้ตั้งโจทย์ ศึกษา ขนบทำเนียมประเพณี ผสมผสานกับวัตถุดิบ ท้องถิ่น จนเกิดมาเป็น ขนมทุเรียนทองขุขันธ์ ซึ่งทานคู่กับน้ำชาร้อนๆ รสเลิศ มีส่วนประกอบจากทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษที่ขึ้นชื่อ สำหรับร้านเราถือว่าลูกค้าทุกคนคือญาติสนิท จึงต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาร้านเราแล้วได้รับความประทับใจกลับไปและกลับมาอีก” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
*****ด้านนางสาวธิดาลักษณ์ แก้วคูณ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้ส่งเสริมในเรื่องเข้าโครงการ และมาตราฐานการยกระดับส่งเสริมด้านความรู้ทางธุรกิจ และกิจการต่างๆ การหาช่องทาง การสร้างเครือข่าย อย่างเช่นร้านเบเกอรี่ร้านนี้ ยังไม่ได้ขยายไปนอกพื้นที่มากนัก ยังรู้จักเพียงในพื้นที่ตัวอำเภอและจังหวัด จึงอยากให้เป็นร้านสตาร์ทอัพ เพื่อให้แนวทางการผลิต การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ แนวทางสร้างเครือข่าย กรอบแนวทางคือจะอิงวัตถุดิบในจังหวัด มียุทธศาสตร์ในเรื่องของข้าวหอมมะลิ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียม และทุเรียนภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ผู้ประกอบการรายนี้ ทำเกี่ยวกับเบเกอรี่ จึงสามารถนำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัด มาเป็นส่วนประกอบของวัตถุดิบทำเบเกอรี่ สร้างรายได้สู่เกษตรกรด้วย.
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล /รายงาน