29 มีนาคม 2024
Latest:
ข่าวพระราชสำนักข่าวเด่น

องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าโครงการขุดลอกแก้มลิงห้วยกล่ำน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางมาที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการขุดลอกแก้มลิงห้วยกล่ำน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ โดยรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานจากผู้แทนหน่วยงานฯ

จากแนวพระราชดำริในการพัฒนาลำน้ำชีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการขาดแคลนน้ำเนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ตลอดลำน้ำชีที่ไหลผ่าน
ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และอุดรธานี ประกอบกับปัจจุบันความต้องการการใช้น้ำของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

สำนักงาน กปร.ได้พิจารณาจัดทำโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องพระราชดำริขึ้น และบรรจุในภารกิจของคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ โดยโครงการขุดลอกแก้มลิงห้วยกล่ำน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การดำเนินงานโครงการฯ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2559 – 2564 ดำเนินการขุดลอกแก้มลิงห้วยกล่ำน้อยเดิม ความยาวรวม 54 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 429 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 2,210,000 ลูกบาศก์เมตร

ระยะที่ 2 ปี 2565 ดำเนินการขุดลอกจำนวน 92 ไร่ ความยาว 5,200 เมตร สามารถเพิ่มความจุได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำเก็บกักทั้งสิ้น 2,560,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ และท่อรับน้ำ และระยะที่ 3 เป็นการดำเนินงานขุดลอกส่วนที่เหลืออีก จำนวน 6 กิโลเมตร กำหนดแผนงานงบประมาณปี 2567 ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 3,152,800 ลูกบาศก์เมตร

ผลสัมฤทธิ์เมื่อโครงการฯ เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรตำบลยางหวาย และตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ ได้ถึง 1,030 ครัวเรือน 4,637 คน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ และเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ทางการเกษตรกว่า 10,000 ไร่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่และโดยรอบต่อไป.