ข่าวพระราชสำนักข่าวเด่น

องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ราชบุรี

ราชบุรี (17 มิถุนายน 2565) พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี รับฟังบรรยายสรุปข้อมูลภาพรวมโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตำบลยางหัก และโครงการอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน

โครงการอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น 1 ใน 6 อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างแหล่งน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค ตามที่ราษฎรกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534

โครงการอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงฯ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดความจุประมาณ 612,000 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำฝน 7 ตารางกิโลเมตร และส่วนหนึ่งรับน้ำที่ผันลงมาจากอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบท่อ ความยาวประมาณ 3,450 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2540 ปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่ปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ รวมถึงพืชผักได้ประมาณ 1,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 308 ครัวเรือน จำนวน 990 คน

ต่อมาองคมนตรีพร้อมคณะฯ ได้เยี่ยมชมโครงการฯ และปลูกต้นรวงผึ้งบริเวณสันเขื่อน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ต่อไป

จากนั้น เดินทางไปยังแปลงเกษตรของนายจำนงค์ แพลอย อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 3 บ้านท่ายาง ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ โดยมีพื้นที่การเกษตร ทั้งหมด 9 ไร่ 3 งาน ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ปลูกอะไรไม่ได้เลย นอกจากพืชไร่ทนแล้งอย่างฝ้ายและข้าวโพด เนื่องจากสภาพความแห้งแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์และไม่มีแหล่งน้ำทำการเกษตร ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก มีรายได้ต่อปีประมาณ 5,000 บาท

หลังจากได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จเมื่อปี 2540 มีระบบท่อส่งน้ำผ่านพื้นที่ทำกิน ก็เริ่มเปลี่ยนมาปลูกพืชผักและพืชสวน ได้แก่ ปลูกมะปราง จำนวน 4 ไร่ ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าเดิม มีรายได้ต่อปีประมาณ 80,000 บาท และเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มปลูกผลไม้ชนิดอื่น จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโอ และกล้วยหักมุก

สำหรับในปีนี้ เงาะและทุเรียน ได้เริ่มออกผลผลิตเป็นปีแรก ปัจจุบันขายเงาะได้แล้วประมาณ 10,000 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดรวมทั้งยังสามารถเพาะปลูกพืชผักไม้ผลได้หลากหลายชนิดส่งผลให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูล/ภาพ :กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.