19 เมษายน 2024
Latest:
update newsข่าวเกษตรข่าวเด่นเศรษฐกิจ

สอวช.ร่วมกับ ม.เกษตรกำแพงแสน เตรียมขยายผล “ชะอวดโมเดล” ช่วยชาวสวนภาคใต้

***กรุงเทพฯ…ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยว่า สอวช. จะต่อยอดจากโครงการบูรณาการวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลทางเศรษฐกิจสูง ซึ่ง สอวช. ในขณะนั้นยังเป็น สำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ลงไปช่วยชาวสวนมังคุด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชตามวิถีให้ได้ผลผลิตที่มีราคา

***โดยพื้นที่ อ.ชะอวด มีการปลูกมังคุดกันมาก ผลผลิตในบางปีไม่ได้คุณภาพ ลูกเล็ก ยางไหลในผล ผิวไม่สวย ราคาตกเหลือกิโลกรัมละประมาณ 10 บาทเท่านั้น คณะอาจารย์จาก ม.เกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน ไปให้ความรู้ด้านการแต่งกิ่งเพื่อให้แสงเข้าถึง ความชื้นพอเหมาะ นอกจากนี้ ยังช่วยดูเรื่องของดินและการให้ปุ๋ยตามเวลา ทำให้ได้ผลผลิตดี และขายได้ในราคาสูง ในบางพื้นที่สามารถทำมังคุดได้นอกฤดู ผลใหญ่ ประมาณ 6 ลูกต่อกิโลกรัม สามารถขายได้ในราคากิโลละ 120-180 กว่าบาท โดยเจ้าของสวนจะจ้างคนเก็บมังคุดลูกละ 5 บาท ถือเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

*** “ผมกำลังจะหารือกับทีมอาจารย์ ม.เกษตรฯกำแพงแสน นำโดย รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ว่าควรขยายผลไปในพื้นที่ อ.สิชล อ.ท่าศาลา มีเกษตรกรชาวสวนมังคุดเป็นจำนวนมาก แต่ยังเป็นการปลูกกันแบบพื้นบ้าน ผลผลิตออกน้อยคุณภาพไม่สูง ขายไม่ได้ราคา จะมีการนำแนวคิด “ชะอวดโมเดล” มาปรับใช้เพิ่มผลผลิตให้กับชาวสวนในสองอำเภอ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว

***ผอ..สอวช. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกันถึงการเพิ่มผลผลิตของชาวสวนปาล์มด้วย ที่ผ่านมาราคาตกต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการในท้องตลาดลดลง แต่อีกส่วนคือคุณภาพของผลผลิตด้วยการปลูกตามแบบพื้นบ้าน ต้องนำองค์ความรู้ลงไปช่วย ตัดแต่งทรงพุ่มปาล์มเพื่อได้รับแสงและความชื้นในอากาศอย่างพอเพียง การให้ธาตุอาหารตรงตามสภาพดิน และความต้องการของพืช อีกทั้งการปลูกปาล์มต้องหมั่นเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินด้วย

*** “การยกระดับเกษตรกรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะนั้น องค์ความรู้และคณะอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ในมหาวิทยาลัยจะช่วยได้ ที่ผ่านมาลงไปช่วยเกษตรกรน้อยเนื่องจากนักวิจัยหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยไม่สามารถนำผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ แต่ปัจจุบันทาง สอวช. กำลังผลักดันให้สามารถทำได้  เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้องค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายในมหาวิทยาลัยได้ลงไปช่วยเกษตรกรได้อย่างจริงจัง อย่างในภาคเหนือก็จะมีอาจารย์ที่รู้เรื่องลำไยมาก ภาคใต้ก็มังคุด ปาล์ม ทุเรียน เป็นต้น ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

***ผอ..สอวช. กล่าวอีกว่า กำลังดูการวิจัยเชิงระบบเพิ่มเติมว่าจะทำอะไรได้บ้างกับเกษตรตำบล และเกษตรอำเภอ เพราะหากมีการจัดการดี ๆ และทำเรื่องเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ถ้าจัดกลไกสนับสนุนดี ๆ และทำเรื่องการสร้างขีดความสามารถ จะช่วยได้เยอะ และจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้วย

***ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.ปากพนัง สามารถปลูกส้มโอทับทิมสยาม ขายได้ในราคาที่สูงมาก และรสชาติอร่อยกว่าส้มโอทั่วไป ดังนั้นจึงอาจจะมีการหารือกันถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราช  จะต้องมีการวิเคราะห์ดิน และใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วย เช่นเดียวกับทุเรียน แม้ว่าเกษตรกรชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่เก่งอยู่แล้ว แต่เนื่องจากทุเรียนยังเป็นพืชที่ใช้สารเคมีเยอะ ต้องมีการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดสารเคมี ขณะเดียวกัน ทุเรียนก็ยังเป็นพืชที่ตายง่าย บางต้นให้ผลผลิตแค่ครั้งเดียวก็ยืนต้นตาย เราจะเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหาในจุดนี้  เป็นจุดสำคัญ เพราะทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังมีตลาดใหญ่ สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้อีกมาก