24 ตุลาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศสิ่งแวดล้อม

นายอำเภอเบตงลุยตรวจการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียโรงงานยางหลังชาวบ้านร้องเรียน

 

***ยะลา…ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายวันที่ 22 มี.ค. นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง พร้อมปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ อบต.ยะรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เดินทางไปยังบริษัทยูนิเท็กซ์รับเบอร์จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 220 หมู่1 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เป็นโรงงานรับซื้อน้ำยางพารา เพื่อตรวจสอบการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน  หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าปล่อยน้ำเสีย ลงลำคลองสาธารณะ และส่งกลิ่นเหม็น จนทำให้เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบและมีการประชุมหารือแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

***นายวีระยุทธ วีระประทีป ผู้ควบคุมดูแลระบบบำบัดด้านสิ่งแวดล้อม ของบริษัท เผยว่า ขณะนี้ทางโรงงานหยุดการผลิต เพื่อทำการปรับปรุงระบบน้ำเสีย และกลิ่น ที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน  การหยุดการผลิตของโรงงาน เพื่อแสดงความจริงใจ เป็นความตั้งใจจริงของผู้บริหาร ที่จะแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย และกลิ่นที่ ไปรบกวน สร้างความรำคาญให้ประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงโรงงาน

***อีกทั้งทางโรงงานกำลังดำเนินการ ทำบ่อพักน้ำเพิ่มขึ้น อีก 3 บ่อ เพื่อหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่  ปรับปรุงบ่อดักจับยางจากน้ำล้างเครื่อง  ปรับปรุงระบบขจัดกลิ่นแอมโมเนีย จัดทำฝาปิดบ่อดักเศษยาง จัดหา Blower ขนาด 50 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 25 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเพิ่มบ่อเติมอากาศ จัดหาเครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอย จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ผลการดำเนินการแก้ไขเป็นที่พอใจ คาดว่า สิ้นเดือนเมษายนนี้จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระบบเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง

***นอกจากนี้ทางโรงงานยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้นอีก ทั้งภายในโรงงานและบริเวณด้านนอกรอบตัวโรงงานและข้างลำคลองที่ติดโรงงาน เพื่อบันทึกภาพน้ำในคลอง นำมายืนยันแสดงความบริสุทธิ์ใจกับชาวบ้าน ว่าโรงงานไม่ได้ปล่อยน้ำเสียลงลำคลองสาธารณะ เพราะขณะนี้ทางโรงงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และเรื่องกลิ่น จึงได้หยุดการผลิตไปตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีข่าวในโลกโซเชียล และนำมาพูดต่อๆกัน กล่าวหาว่า โรงงานปล่อยน้ำเสีย

***ด้านนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า การปรับปรุงของโรงงานเป็นเรื่องที่ดี และต้องการให้โรงงานแห่งนี้เป็นต้นแบบของโรงงานในพื้นที่อำเภอเบตง ที่เวลามีปัญหาเกิดขึ้น ให้โรงงาน หน่วยงานราชการ ชุมชน มาพูดคุยหารือแนวทางแก้ไขร่วมกัน และอยากให้ทุกโรงงานมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกัน ซึ่งในคณะกรรมการจะมีทั้งภาคเอกชน ราชการ ประชาชน จะได้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน