update newsข่าวเด่นบทความ

หาดูยาก..เปิดตำนานช่างโบราณ

 “สืบทอดอาชีพจาก พ่อแม่ มาตั้งแต่อายุ 19 ปี”

เป็นคำเกริ่นนำของ นางกิมฟา แซ่เลี้ยง อายุ 79 ปี อยู่บ้านเลขที่8 ถนนพิชัย ต.เมืองสวรรคโลก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และนายบุญรอด เบญจกุล อายุ 50 ปีลูกชาย ที่ ยังคงสืบทอดอาชีพช่างบัดกรี และ ทำตะเกียงน้ำมันก๊าดจากกระป๋องนม ปัจจุบันนี้ค่อนข้างจะหาดูยากแล้ว

โดยขั้นตอนแรก คือ น้ำกระป๋องนมมาเปิดปากกระป๋อง ล้างให้สะอาด เพื่อทำเป็นตัวตะเกียง จากนั้นตัดโลหะแผ่นเรียบตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลาง แล้วนำมาเชื่อมต่อกัน ส่วนฝาจะล้างทำความสะอาด ทำเป็นแผ่นวงกลมขนาด 1 นิ้ว และนำวงกลมที่ได้มาขึ้นรูป ในเครื่องขึ้นรูปด้วยมือ แล้วนำมาเชื่อมต่อกับตัวตะเกียง

ปัจจุบัน ทำตะเกียงอยู่2 แบบ คือ แบบต่ำซึ่งทำจากกระป๋องนมทำเป็นทรงเตี้ยมีหู และแบบสูงคือจะมี2ส่วนคือส่วนของตัวตะเกียงและเชื่อมต่อแกนกับส่วนของฐานล่างที่จะต้องใส่ทรายเพื่อถ่วงให้ตะเกียงหนักสามารถวางตั้งได้

สำหรับการทำตะเกียงทรงเตี้ยกับทรงสูงจะทำไม่เหมือนกัน การทำตะเกียงทรงสูงจะต้องนำแผ่นสังกะสีมาตัดและเชื่อมขึ้นรูปเป็นทรงกรวยจากนั้นจะนำแผ่นสังกะสีมาเชื่อมปิดด้านล้างและนำสังกะสีเจาะรูตรงกลางมาเชื่อมปิดด้านบน

จากนั้นจะนำกระป๋องนมมาตัดให้เป็นรูปวงกลมและเชื่อมต่อให้เป็นทรงสำหรับทำเป็นฐานเมื่อทำทั้งสองส่วนแล้วก็จะนำมาเชื่อมประกอบเข้าด้วยกันโดยจะมีแกนกลางเมื่อประกอบเสร็จก็จะนำทรายใส่บริเวณฐานล่าง

แล้วปิดด้วยฝาที่ทำขึ้นมาจากสังกะสีอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ตะเกียงทรงสูงสามารถตั้งได้และที่ใส่ทรายไว้เพื่อให้ตระเกียงทรงตัวได้ไม่ล้ม

“ปัจจุบันในจังหวัดสุโขทัยน่าจะเหลือที่บ้านตนแห่งเดียวที่ยังคงยึดอาชีพทำตะเกียงจากกระป่องนมด้วยวิธีแบบโบราณที่ได้สืบทอดมาจากพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นลูกชายตนก็เป็นรุ่นที่3แล้ว ส่วนลูกค้าจะมีทั้งในจังหวัดสุโขทัยและต่างจังหวัดที่สั่งจองตะเกียง โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวจะมีลูกค้าสั่งจองตะเกียงเข้ามามากกว่าช่วงปกติ”คุณยายกิมฟา กล่าวในที่สุด