update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศ

ศอ.บต. ประชุมเตรียมความพร้อมนำนักเรียนนักศึกษาไทยจากซูดานกลับภูมิลำเนา คาดเที่ยวบินแรกถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ 28 เม.ย. 66 นี้

*****ยะลา..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชนธัญ แสงพุ่ม  รองเลขาธิการ ศอ.บต. ประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการนำนักศึกษาไทยในสาธารณรัฐซูดานกลับสู่ภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ณ สาธารณรัฐซูดาน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน นักเรียน นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ ณ สาธารณรัฐซูดานเป็นอย่างมาก ขณะนี้พบว่า มีจำนวนนักเรียน นักศึกษาไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศซูดาน จำนวน 212 คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

*****โดยมีนายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวง /ทบวง/กรม ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ผู้แทนจากจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom  ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดตั้งศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.) เพื่อให้ข้อมูล และให้ความช่วยเหลือประชาชน นักเรียน และนักศึกษาไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐซูดาน

*****ทั้งนี้ที่ประชุม ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนนำนักเรียน นักศึกษาไทย จากซูดานกลับคืนสู่ภูมิลำเนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ การดูแลด้านสุขภาพ และด้านอื่น ๆ เบื้องต้นในการนำนักเรียน นักศึกษาไทยกลับสู่ภูมิลำเนาจะแบ่งออกเป็น 2 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบินที่ 1 จะเดินทางในวันที่ 27 เมษายน 2566 จำนวน 145 คน คาดว่าจะถึงท่าอากาศยานทหาร (บน.6) ดอนเมืองประเทศไทยในเวลา 22.00 น. และเที่ยวบินที่ 2 จะเดินทางในวันที่ 28 เมษายน 2566 จำนวน 70 คน คาดว่าจะถึงท่าอากาศยานทหาร (บน.6) ดอนเมืองประเทศไทยในเวลา 09.00 น. ก่อนจะเดินทางกลับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ ถึงท่าอากาศยานปัตตานี  จากนั้น ศอ.บต. จะร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะอำนวยความสะดวกนักเรียน นักศึกษาทุกคน กลับภูมิลำเนาสู่อ้อมกอดของครอบครัวทุกคนอย่างปลอดภัย

*****นายชนธัญ แสงพุ่ม  รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เน้นย้ำในที่ประชุมในเรื่องของการเทียบโอนหน่วยกิตสำหรับนักนักศึกษาที่ไม่ประสงค์กลับไปศึกษาต่อ และบางส่วนไม่ประสงค์ที่จะศึกษาต่อในประเทศไทย และหาช่องทางไปศึกษาต่อยังประเทศต่างๆ  ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องเร่งสำรวจข้อมูลให้เร็วที่สุด เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศรับทราบ เพื่อช่วยเหลือการเทียบโอนหน่วยกิตต่อไป และสำหรับนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว ที่ยังไม่เดินทางกลับ ต้องฝากไปยังกระทรวงแรงงาน ให้รองรับกลุ่มดังกล่าวให้มีงานทำในประเทศไทย ตลอดจนด้านสุขภาพ ให้กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปตรวจด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นในวันที่นักเรียน นักศึกษากลับถึงประเทศไทย

*****ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศ โดยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยความคืบหน้าปฏิบัติการอพยพคนไทยออกจากซูดาน ดังนี้ 1. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 เวลา 09.30 น. เครื่องบิน A340-500 ของกองทัพอากาศ ได้ลงจอด ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ King Abdulaziz เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย โดยเครื่องบิน C130H อีก 2 ลำกำลังทยอยเดินทางถึงที่หมายตามกำหนดเวลา  2. คนไทยกลุ่มแรก 82 คน ที่ออกเดินทางจากเมือง Port Sudan เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 2566) โดยเรือของทางการซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางถึงฐานทัพเรือ King Faisal Navy Base เมืองเจดดาห์ เช้านี้แล้วเช่นกันเมื่อเวลาราว 09.00 น.  โดยนายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด รอรับคณะ จากนั้นจะพาไปยังที่พักที่เตรียมไว้ให้ และคณะจะได้รับแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกและจะมีคณะแพทย์ที่เดินทางไปพร้อมกับเครื่องบินกองทัพอากาศตรวจสุขภาพและประเมินความพร้อมของคณะ เพื่อเตรียมการเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป

*****3. ในส่วนคนไทยและครอบครัวชาวต่างชาติอีก 136 คน ได้ลงทะเบียนกับทางการซาอุดีอาระเบีย และรอขึ้นเรือเที่ยวถัดไปอยู่ที่ท่าเรือของเมือง Port Sudan แล้ว โดยนักเรียนไทยอีก 5 คนที่พำนักอยู่นอกกรุงคาร์ทูม และประสงค์จะอพยพ อยู่ระหว่างเดินทางมาสมทบกับกลุ่มที่กำลังจะออกเดินทางไปเมืองเจดดาห์ อนึ่ง วานวันที่ (25 เม.ย. 66) นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ได้เข้าพบ Major General Pilot Staff Abdullah bin Muhammad Al-Zahrani ผู้บัญชาการฐานทัพอากาศ King Abdullah Air Base รวมถึงผู้บริหารท่าเรือเมืองเจดดาห์ เพื่อเตรียมอำนวยความสะดวกแก่คณะคนไทยจากซูดานที่จะเดินทางมาถึงด้วย

*****ทั้งนี้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่ต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อ ศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.) โทร. 0-7327-4101 หรือ ทาง Facebook Page FAS : Foreign Affairs Strategy Division” หรือ โทรฯ สายด่วนอุ่นใจ 1880 หรือ ติดต่อโดยตรง ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา

เจษฎา สิริโยทัย /รายงาน