update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศสิ่งแวดล้อม

ฮือฮา!! นักวิจัยฯ มมส พบ “หอยกาบน้ำจืด” ขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลก จากแม่น้ำชี

*****มหาสารคาม..ผู้สื่อข่าวรานงานว่า รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า เราได้ค้นพบหอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลก จากแม่น้ำชี บริเวณบ้านท่าขอนยาง และบ้านท่าสองคอน จังหวัดมหาสารคาม โดยหอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกนี้มีความยาวของเปลือก ถึง 21 เซนติเมตร เป็นหอยกาบน้ำจืดสกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหอยกาบน้ำจืดด้วยกัน สามารถเรียกว่า หอยกาบใหญ่แม่น้ำชี หรือ หอยกาบใหญ่ลุ่มน้ำโขง เป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำโขง หรือเรียกว่า หอยกาบใหญ่ศาสตราจารย์สมศักดิ์ ปัญหา ดังชื่อวิทยาศาสตร์คือ 𝐶ℎ𝑎𝑚𝑏𝑒𝑟𝑙𝑎𝑖𝑛𝑖𝑎 𝑠𝑜𝑚𝑠𝑎𝑘𝑝𝑎𝑛ℎ𝑎𝑖 Kongim, Sutcharit & Jeratthitikul, 2023 ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ผู้จุดประกายให้ทำวิจัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มหอย

*****รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหอยกาบชนิดนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนลดลงมากจนแทบไม่พบตัวเป็น จากที่คณะได้สำรวจหอยชนิดนี้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี พบตัวเป็นเพียง 2 ตัว เมื่อปีที่แล้วได้พบ 1 ตัวเป็นช่วงหน้าแล้ง มีความยาวของเปลือก 21 ซม. น้ำหนัก 2.5กก.จากนั้นเราก็ได้นำมาศึกษาค้นคว้าจนสามารถชี้ชัดว่าเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกแน่นอน แต่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เพราะ 10 ปีนี้เราเจอตัวเป็นแค่ 2 ตัว เพราะชาวบ้านใช้หอยกาบที่มีประโยชน์มาก นำตัวมาประกอบอาหารเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ มีมากกว่าเนื้อไก่

*****ส่วนเปลือกหอยจะนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ภาชนะใส่อาหาร และเปลือกผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ ปูนขาว โดยในธรรมชาติหอยกาบน้ำจืดจะทำหน้าที่กรองตะกอนในแหล่งน้ำทำให้น้ำใส และเปลือกเมื่อถูกย่อยสลายจะช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุคืนสู่ระบบนิเวศแหล่งน้ำ ทางคณะได้เรามองว่าอยากจะเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อให้ชาวบ้านเลี้ยงต่อไป