ข่าวอปท.ข่าวเด่น

เตรียมรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญแผนงานเพื่อบรรเทาอุทกภัย ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอยุธยาแกรนด์ โดยมี นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และป่าสัก สถาบันการศึกษา สภาเกษตรกร คณะกรรมการจัดการชลประทาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำ และผู้เข้าร่วมการประชุม 150 คน

นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม จากปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศอย่างมากมายและกว้างขวางในทุกภาคส่วน รวมทั้งเกิดความเสียหายกับพื้นที่ชุมชน พื้นที่การเกษตร และพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะการเกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ.2554 ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.388 ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาและวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยามาโดยตลอด โดยเฉพาะกรมชลประทานได้ศึกษาแผนงานโครงการต่างๆ ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาประกอบด้วย มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง รวมทั้งต้องมีการบูรณาการหลายหน่วยงาน

จากการศึกษาและรวบรวมแผนงานต่างๆ สรุปได้เป็นแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ประกอบด้วย 1) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2) โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย 3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่3 4) โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง

โดยผลสัมฤทธิ์ของทั้ง 9 แผนงาน จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ เจ้าพระยาตอนล่าง แต่เนื่องจากแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประสิทธิผลและผลกระทบในภาพรวม มีเพียงการวิเคราะห์เป็นราย โครงการซึ่งเป็นการวิเคราะห์บนหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน และบางแผนงานยังไม่มีองค์ประกอบที่ ชัดเจน อีกทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูง เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ประกอบกับ มีความคิดเห็นของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำที่แตกต่างกันในเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และผลกระทบของโครงการ คือโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และโครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษากรณีเปรียบเทียบทั้ง 2 โครงการเพิ่มเติม