เศรษฐกิจ

DITP แนะผู้ส่งออกไปศรีลังกาปรับเปลี่ยนข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทยปรับเปลี่ยนข้อมูลบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งออกไปศรีลังกาให้สอดคล้องตามระเบียบใหม่ของสำนักงานกิจการผู้บริโภคศรีลังกา ครอบคลุมสินค้า 76 รายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ป้องกันสินค้าไทยถูกปฏิเสธนำเข้าหรือผ่านด่านศุลกากรล่าช้า พร้อมเตรียมแผนจัดงานTop Thai Brands 2021 มีนาคมปีหน้า หวังกระตุ้นการส่งออกสินค้าและบริการไทยในตลาดศรีลังกา

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้รับแจ้งล่าสุดจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศศรีลังกาและมัลดีฟส์ด้วยว่า สำนักงานกิจการผู้บริโภคศรีลังกา (The Consumer Affairs Authority ) ได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายและเทรดเดอร์ทุกรายต้องระบุข้อมูลต่อไปนี้เป็นภาษาสิงหล ภาษาทมิฬ และภาษาอังกฤษบนบรรจุภัณฑ์ กล่องบรรจุหรือสิ่งที่ห่อหุ้มสินค้า ได้แก่ ราคาจำหน่ายปลีกสูงสุด (Maximum Retail Price) เลขหมายครั้งที่ทำการผลิต (Batch Number) วันหมดอายุ วันผลิต น้ำหนัก/ปริมาตรสุทธิ ประเทศแหล่งกำเนิด/ประเทศผู้ผลิต และกรณีเป็นสินค้านำเข้าครั้งละจำนวนมากและนำมาแยกบรรจุใหม่หรือสินค้าที่ผลิตและบรรจุครั้งละจำนวนมากและนำมาแยกบรรจุใหม่ต้องระบุวันที่แยกบรรจุใหม่ (date of repacking) ด้วย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป สินค้าที่เข้าข่ายตามข้อบังคับใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และปลา ชา กาแฟ นมผง น้ำตาล เครื่องเทศ น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม อาหารเด็กทารก ไอศกรีม สินค้าสมุนไพรและยาสมุนไพรที่จำหน่ายเป็นแพ็คหรือกล่องบรรจุ น้ำมันและครีมใส่ผม เจลเซ็ตผม น้ำยาย้อมผม ยาสระผม ครีมนวดผม แป้งทาผิว โคโลญจน์ สเปรย์น้ำหอม โลชั่นทาผิว ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากที่จำหน่ายเป็นแพ็คหรือกล่องบรรจุ ทรานซิสเตอร์หรือถ่านไฟฉายที่จำหน่ายเป็นแพ็ค ปูนซีเมนต์ ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกษตร รวมทั้งสิ้น 76 รายการ

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า มีสินค้าไทยหลายประเภทที่ส่งออกไปศรีลังกาอยู่ในข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องฉลากสินค้าใหม่ โดยเฉพาะสินค้าปลาแห้ง ข้าวสาร เส้นก๋วยเตี๋ยว ปลากระป๋อง ผักผลไม้อบแห้ง กะทิผง/บรรจุกล่องหรือกระป๋อง นมข้นหวาน ขนมขบเคี้ยว อาหารเด็ก อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม สินค้าสมุนไพร สินค้าเพื่อสุขภาพ ความงามและสปา รวมถึงวัสดุก่อสร้างและปูนซีเมนต์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมโดยปรับเปลี่ยนข้อมูลบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งออกไปศรีลังกาให้ตรงตามข้อบังคับใหม่นี้ เพื่อป้องกันการปฏิเสธการนำเข้าหรือความล่าช้าในการตรวจผ่านสินค้าของศุลกากรและหน่วยงานการนำเข้าอื่นๆ นอกจากนี้ กรมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ต่างทยอยออกข้อกำหนดเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยกระแสเริ่มปะทุขึ้นจากอินเดียที่ต้องการตรวจเข้มสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพจากจีน และขยายไปถึงศรีลังกา ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค เนื่องจากการค้าในโลกปัจจุบันเน้นการจำหน่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น รัฐบาลแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมและกำกับดูแลมากขึ้นตามไปด้วย” อธิบดีให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

“ศรีลังกานับเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยที่ผ่านมากรมได้จัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าและธุรกิจบริการของไทยในตลาดศรีลังกาเป็นระยะ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดคณะผู้บริหารระดับสูงและคณะผู้แทนการค้าเดินทางเยือนศรีลังกาเมื่อปี 2561 การเชิญคณะผู้แทนการค้าคลัสเตอร์สินค้าก่อสร้างมาเจรจาการค้าในไทยเมื่อปี 2562 หรือการเข้าร่วม งานแสดงสินค้าต่างๆ ของผู้ประกอบการไทยโดยการสนับสนุนของกรมภายใต้โครงการ SMEs Pro-active เป็นต้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 6-8 มีนาคมที่ผ่านมา กรมได้จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2020 ณ กรุงโคลัมโบ ซึ่งนับเป็นการจัดงานแสดงสินค้าภายใต้ชื่อ Top Thai Brands เป็นครั้งแรกในศรีลังกาด้วย และสำหรับปีงบประมาณ 2564 กรมกำหนดจัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2021 ราวเดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายและผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้า ณ งานแสดงสินค้าด้วยตนเองได้ กรมได้เตรียมแผนจัดกิจกรรมเจรจาการค้ารูปแบบเสมือนพบหน้า (Mirror Mirror Mission) ผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal โดยผู้ประกอบการไทยสามารถจัดส่งสินค้าตัวอย่างล่วงหน้าให้ผู้เข้าชมงานพิจารณาก่อนตัดสินใจสั่งซื้อได้” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยและศรีลังกามีมูลค่าการค้ารวม 455.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.54 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 376.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.08 จากปีก่อนหน้า นำเข้าจากศรีลังกา 78.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.37 จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญ 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปศรีลังกามากที่สุด ได้แก่ ผ้าผืน น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปลาแห้งและส่วนต่างๆ แห้ง ใส่เกลือ หรือรมควัน ยางพารา เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และปูนซีเมนต์ ตามลำดับ ขณะที่สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากศรีลังกา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของมูลค่านำเข้าจากศรีลังกาทั้งหมด

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน อีเมล: business@thaitradechennai.in หรือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169