28 มีนาคม 2024
Latest:
ข่าวพระราชสำนักข่าวเด่น

องคมนตรี ติดตามผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

จันทบุรี (5 ตุลาคม 2563) พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์จากการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

ในช่วงเช้า องคมนตรี และคณะ เดินทางไปยังสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เพื่อรับฟังสรุปผลการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และการสนองพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี รวมถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 40 โครงการ

สำหรับการดำเนินงานสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 2 โครงการ ปัจจุบันได้อำนวยประโยชน์ให้กับราษฎรโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรได้มีน้ำใช้อย่างเพียงตลอดปี

นอกจากนี้ยังได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแห้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โดยในปีงบประมาณ 2563 สำนักงาน กปร. สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

จากนั้นคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมชมทัศนียภาพของคลองภักดีรำไพ ระยะทาง 11 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากมีถนนสามสายขวางกั้นทางน้ำ โดยคลองภักดีรำไพ สามารถผันน้ำส่วนที่เกินได้ถึง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจากเหตุการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ โนอึล ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คลองภักดีรำไพ สามารถระบายน้ำจากตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีแสดงถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งในบริเวณพื้นที่เมืองจันทบุรี รวมทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตร และใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 5,000 ไร่ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกายสำหรับชาวจันทบุรีและผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย

จากนั้น คณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรีฯ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมักขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี อ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายมีขนาดความจุประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรประมาณ 13,900 ไร่ และสามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานตอนบนของอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 2,185 ไร่

โอกาสนี้องคมนตรีและคณะฯ ได้เยี่ยมชมอาคารระบายน้ำล้น และมอบเมล็ดพันธุ์ จำนวน 4 ชนิดจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริมอบให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 14 กลุ่ม พร้อมกับร่วมปล่อยปลาตะเพียนลงในอ่างเก็บน้ำ ร่วมกับประชาชน

จากนั้น เดินทางไปยังจุดจ่ายน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำ การนี้ได้เยี่ยมชมสวนผลไม้ของนางสาวธิดารัตน์ สัตถี รองประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง ที่สามารถบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชจากเดิมมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากหลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวมีความอบอุ่นมีชีวิตที่มั่นคง ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้น้ำมีสมาชิกรวม 119 ราย ราษฎรส่วนใหญ่ทำสวนปลูกทุเรียน มังคุด เงาะ และกล้วยไข่ พื้นที่เพาะปลูกรวม 2,747 ไร่ มีผลผลิตรวม จำนวน 4,327,000 กิโลกรัม มีมูลค่าผลผลิต 248,000,000 บาท โอกาสนี้ได้ปลูกต้นทุเรียนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพที่ยั่นยืนต่อไป.