update newsการศึกษาข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ขับเคลื่อนนโยบายความเป็นนานาชาติ

นครศรีธรรมราช..0 ศจ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ศจ.ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว  คณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ  ศจ.คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย  โรจนเสถียร  คณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี และ ดร.จิตติมา  ศังขมณี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ แถลงข่าวพัฒนาการความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน ความเป็นนานานาชาติของทั้ง 3 วิทยาลัย หลังจากสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้บริหาร ทั้ง 3 ท่าน ดำรงตำแหน่งคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี  โดยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม 

ศจ.ดร.สมบัติ  กล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังขับเคลื่อนนโยบาย ความเป็นนานาชาติ ยกระดับความเป็นสากล มุ่งสู่ World Class University โดยกระทรวงอว. ได้จัดให้  ม.วลัยลักษณ์ อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research)              

ขณะนี้มหาวิทยาลัยจัดตั้งหน่วยงาน “โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก” พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก โดยมีอธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการ รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้มหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายเพื่อก้าวไปสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking)  จัดโดย Times Higher Education (THE) ให้ได้ภายในปี 2566 การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกดังกล่าว มีเงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องมีผลงานวิจัยไม่น้อยกว่า 1,000 ชิ้น การมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scimago Journal การอ้างอิง  Industry income  สัดส่วนอาจารย์และนักศึกษาชาวต่างชาติ และการมีความร่วมมือกับนักวิจัยในต่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563  มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ใน Scimago และอื่นๆ รวม 777 ชิ้นงาน  และตั้งเป้าหมายปลายปี 2563 จะมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 800 ชิ้นงาน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scimago อยู่ใน Quartile score ที่ 1 และ 2 มากกว่า 70% ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นอกจากนี้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยยังได้รับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกชาวจีนเข้ามาศึกษาต่อมากขึ้น และในอนาคตมีแผนให้แต่ละหลักสูตรสามารถรับอาจารย์ชาวต่างชาติเข้ามาสอนในสัดส่วนการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ 50% เมื่อรวมกับอาจารย์ชาวต่างชาติของทั้ง 3 วิทยาลัยนานาชาติ และสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป จะทำให้มีสัดส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ชาวต่างชาติมากขึ้น

“มหาวิทยาลัยยังมีการพัฒนาในด้านอื่นๆ  ทั้งการปฎิรูปการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน มีอาจารย์ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพการสอนที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ The UK Professional Standards Framework (UKPSF) จำนวน  209 คน ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านอื่นๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมและเป็นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลกในอนาคต ล่าสุดผลงานตีพิมพ์บทความวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวารสารของฐาน Nature Index ด้าน Physical Sciences ในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2019 ถึง 31 มีนาคม 2020 ขยับไปอยู่ในอันดับ 8 ของมหาวิทยาลัยในอาเซียนอีกด้วย” ศจ ดร.สมบัติ กล่าว