update newsข่าวอปท.ข่าวเด่น

รมช.เกษตรฯกำชับฝนหลวงเติมน้ำช่วยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

ร้อยเอ็ด..0เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 10 ต.ค.ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางลงพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด ที่ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย เพื่อติดตามงาน โดยมีนายชยันต์ ศิริมาศ ผวจ.ร้อยเอ็ด พล.ต.ธวัชชัย แจ้งประจักร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 พล.ต.ต.ไพโรจน์ มังคลา ผบก.ภ.จ.ร้อยเอ็ด นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ต้อนรับพร้อมรายงานข้อราชการให้รับทราบ

ขณะที่นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมให้กำลังใจเกษตรกรทำนาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อรับทราบสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กว่า 500 คน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีหน่วยปฏิบัติการ 4 หน่วย คือหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา และสุรินทร์ ในระหว่างวันที่ 3 ก.พ. ถึง 7ต.คง 63 มีการขึ้นบินปฏิบัติการรวม 188 วัน 1,129 เที่ยวบิน ทำให้เกิดฝนตกคิดเป็นร้อยละ 94.68 มีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 43.56 ล้านไร่ รวมถึงภารกิจเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนกับเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 -5 ต.ค. 20 เขื่อน รวม 53,528 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่ผลการปฏิบัติฝนหลวงทุกภูมิภาคมีทั้งหมด 12 หน่วย ในระหว่างวันที่ 3 ก.พ.- 7 ต.ค.63 มีการขึ้นบินปฏิบัติการ รวม 228 วัน จำนวน 5,394 เที่ยวบิน ทำให้เกิดฝนตกคิดเป็นร้อยละ 99.12 มีรายงานฝนตก รวม 76 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 197.95 ล้านไร่ ส่วนภารกิจเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนกักเก็บน้ำจำนวน 231 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 197 แห่ง ) รวม 4,506.064 ล้านลูกบาศก์เมตร การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ2,707,390 ไร่   จังหวัดร้อยเอ็ดมีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุดประมาณ 826,724 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 276,953 ตัน มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 5 อำเภอ พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ ข้าวหอมมะลิ 10

สำหรับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด เป็นข้าวหอมมะลิ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) มีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจนทั่วโลก รวมถึงยังมีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ และตลาดโมเดิร์นเทรด รวมถึงการออกบูธงานแสดงสินค้าในงานสำคัญของจังหวัด โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้บริโภคที่ไส่ใจสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการหรือกลุ่มเกษตรกรสามารถขายสินค้าเกรด พรีเมี่ยมได้ในราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการขายในลักษณะของฝากและของที่ระลึก แม้ว่าทุ่งกุลาร้องไห้จะมีน้ำไหลผ่านหลายสาย แต่ทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่เทลาดต่ำจากตะวันตกไปตะวันออกจึงทำให้น้ำไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้  ร.อ.ธรรมนัส กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานความร่วมมือกับกองทัพบก และกองทัพอากาศ ในการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และเติมน้ำลงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง จนสิ้นสุดฤดูการเพาะปลูกในปีนี้  หลังกล่าวให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ดแล้ว ยังได้รับน้ำใจจากพี่น้องเกษตรกร ด้วยการมอบผลผลิตทางการเกษตร จากเกษตรกร กว่า 50 คน อาทิ พืชผักสวนครัวต่างๆ พริก มะนาว กล้วย มะเขือ เพกา ถั่วฝักยาว ขนม ข้าวต้มเขมร จำนวนมากด้วย