update newsข่าวเด่นศาสนาศาสนา-วัฒนธรรม

หล่อรูปเหมือน”หลวงพ่อคูณ”ท่านั่งยององค์ใหญ่ที่สุด

นครราชสีมา..0เมื่อเวลา 11.45 น.วันที่ 8 พ.ย.ที่วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราสีมร นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเททองหล่อสร้างรูปเหมือนหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ (องค์ใหญ่ที่สุด) มีขนาดหน้าตัก 19 เมตร ขนาดความสูง 27 เมตร หล่อด้วยเนื้อทองเหลือง ในท่านั่งยองๆถือไม้เคาะหัว โดยมีศิลปินปฏิมากรรม-สถาปัตยกรรมขั้นครูออกแบบร่วมจารึกประวัติศาสตร์ในการสร้าง โดยมีพระเทพวิสุทธิเมธี รองเจ้าคณะภาค 11 วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และพระภาวนาประชานารถ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด ร่วมในพิธีเททองหล่อด้วย

นายสุวัจน์ กล่าวว่า วัดบ้านไร่มีสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญมากมาย อาทิ วิหารเทพวิทยาคม พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ อีกทั้งวัตถุมงคลต่างๆ มากมาย และหลวงพ่อคูณได้บริจาคสร้างสาธารณกุศลมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลและอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านบาท และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดบ้านไร่แห่งนี้ วัดบ้านไร่ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งจะสานต่อนโยบายไทยเที่ยวไทยของภาครัฐ

“ที่สำคัญ ทางวัดบ้านไร่ได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อคูณรุ่นพิเศษพระผงกายทิพย์(รุ่นรวยทั้งแผ่นดิน)โดยใช้มวลสารเส้นผมและจีวรหลวงพ่อคูณเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อให้สาธุชนได้บูชาและได้คิดถึงคำสอนของหลวงพ่อคูณที่มีมากมาย ขึ้นอยู่กับแรงศรัทธาของลูกศิษย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศและแทบจะทั่วโลก”นายสุวัจน์ กล่าวและว่า โดยเฉพาะคำสั่งสอนของหลวงพ่อ ที่สอนเราไว้ตลอด อย่างเช่น คำพูดเป็นนาย, อย่าให้เงินเป็นเจ้านาย,ยิ่งให้ ก็ยิ่งมี , ทำอะไรก็อย่าประมาท , อย่าไปยุ่งกับยาบ้า  ซึ่งเป็นคำสอนที่พวกเราได้ยึดถือปฏิบัติมาตลอด

อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การจัดสร้างรูปเหมือนของหลวงพ่อคูณในท่านั่งยองๆ ถือไม้เคาะหัวองค์ใหญ่ที่สุดนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อที่บรรดาลูกศิษย์และสาธุชนจำกันได้ดี ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเกียรติประวัติเชิดชูคุณงามความดีให้กับพระเทพวิทยาคมหรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปเคารพกราบไหว้สักการะบูชา ตราบนานเท่านาน โดยจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี

นอกจากนี้ ยังได้ปรึกษาหารือกับทางสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ในการส่งอาจารย์เข้ามาศึกษาเพื่อที่จะเสริมทางด้านวิชาการ และเสริมทางด้านภูมิทัศน์ เพื่อให้มีความพร้อม ในการที่จะต้อนรับผู้ที่จะมาวัดบ้านไร่ ซึ่งน่าจะไม่เกิน 2 เดือน จะเป็นเรื่องของด้านวิชาการ เรื่ององค์ประกอบความเรียบร้อย ความสวยงาม และจะมีแผนที่ท่องเที่ยว และระบบออนไลน์ด้วย เพื่อพัฒนาให้วัดบ้านไร่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาต่อไป