update newsข่าวเด่นศาสนา-วัฒนธรรม

วัดท่ามะกอกปั้มนำฤกษ์ “พระขุนแผนพรายกุมาร” ฝังตะกรุดสาลิกา ปี 66 พิมพ์ปี 43 หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ หารายได้สร้างฐานศาลาองค์ปฐมเจดีย์

*****ระยอง..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่วัดท่ามะกอก ต.พังราด อ.แกลง จ.ระยอง นายศรันยู คล่องแคล้ว หรือโปเต้ ระยอง ประธานการจัดสร้างพระขุนแผนพรายกุมาร พิมพ์ปี 43 ของหลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ ได้นิมนต์ หลวงประสงค์ วัดท่ามะกอก จ.ระยอง (เจ้าพิธี) ,หลวงพ่อเหิณ วัดห้วงหิน จ.ระยอง ,หลวงพ่อฉลาด จ.ยะลา ร่วมกันทำพิธีปั้มนำฤกษ์ พระขุนแผนพรายกุมาร โดยก่อนเริ่มพิธีได้มีการบวงสรวง เทพยดาบูชาฤกษ์ ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ มีเด็กชายแต่งชุดกุมารทองเข้าร่วมพิธีจำนวน 7 คน ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ หลังบวงสรวงมีการจุดประทัดถวายเทพ ปรากฏหมายเลข 888 ที่หางประทัด เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ร่วมพิธี คอหวยไม่พลาดถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อเป็นแนวทางไปเสี่ยงโชคต่อไป

*****ทั้งนี้โปเต้ระยอง กล่าวว่า วันนี้เรามาจัดสร้าง พระขุนแผนพรายกุมาร ย้อนพิมพ์มาจาก พระขุนแผนหลวงพ่อสาคร เกจิดังแห่งวัดหนองกรับ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เป็นพิมพ์ที่สวยสดงดงาม ด้านหลังจะฝังตะกรุดพระปิดตาปุ้มปุ้ย และพระชัยวัฒน์ มีทั้งตะกรุดทองคำ เงิน และทองแดง ซึ่งเป็นตะกรุดสาลิกา ร้อยด้วยสายสิญจน์สวยสดงดงาม สร้างประมาณ 9,000 องค์ เพื่อหารายได้สบทบทุนสร้างฐานศาลาองค์ปฐมเจดีย์ บริเวณข้างวัดท่ามะกอก ซึ่งเป็นหมู่บ้านของผม ส่วนพิธีพุทธาภิเษกจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค.2567 เวลา 15.00 น. ณ พระอุโบสถวัดท่ามะกอก จ.ระยอง งานนี้จะมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเมตตาเดินทางมาเข้าร่วมพิธีอย่างแน่นอน

*****สำหรับวัดท่ามะกอก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ใน ต.พังราด อ.แกลง จ.ระยอง ได้รับอนุญาตให้สร้างตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2528 และตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เมื่อเริ่มสร้างวัดได้ก่อสร้างศาลาการเปรียญ สำหรับบำเพ็ญกุศล 1 หลังขึ้นมาก่อน เป็นเรือนไม้แบบทรงไทย หลังจากนั้นได้สร้างกุฏิสงฆ์จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารทรงไทย และฌาปนสถาน วัดท่ามะกอกได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2557

*****นอกจากนั้นวัดท่ามะกอก เป็นอีกวัดหนึ่งของ จ.ระยอง ที่มีความสวยงาม ด้วยรูปแบบการก่อสร้างที่ร่วมสมัยโดดเด่น มีพระอุโบสถเป็นรูปเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่ถอดแบบจากเรือพระที่นั่ง นำมาขยายขนาดใหญ่เท่าพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธเมตตาอินเดีย เป็นพระประธาน ทางเข้าใต้โบสถ์มีซุ้มพระราหู เพื่อให้ประชาชนได้เดินลอดสะเดาะเคราะห์ ภายในมีลูกนิมิต พระพุทธรูป และพระเกจิอาจารย์ให้ได้กราบไหว้ขอพร ส่วนรอบๆโบสถ์สร้างเป็นร่องน้ำไว้สำหรับเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อให้นักท่องเที่ยวพาลูกหลานเข้าวัดให้อาหารปลาเพื่อความผ่อนคลายอีกด้วย

นิตยา  ทุมมานนท์/รายงาน