17 พฤษภาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศสาธารณสุข

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 เผย พบโรคเลปโตสไปโรซิส (ฉี่หนู) 583 ราย เสียชีวิต 7 ราย เตือนประชาชน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ หลังน้ำลดไม่ควรเดินลุยน้ำ ย่ำดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่า

*****นครศรีธรรมราช..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า สถานการณ์โรคฉี่หนู ในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 23 ก.ย. 2566  พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 583 ราย เสียชีวิต 7 ราย เพศชาย 465 ราย เพศหญิง 118 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 35 – 44 ปี รองลงมาคือกลุ่ม 25 – 34 ปี อาชีพที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือเกษตรกร รองลงมาคือ รับจ้าง จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดระนอง รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช พังงา  สุราษฎร์ธานี  ชุมพร  ภูเก็ต และกระบี่

*****นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ส่งผลให้สภาพพื้นดินเปียกชื้นหรือน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ทำให้เชื้อก่อโรคซึ่งพบอยู่ในปัสสาวะของหนูรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น สุนัข แมว วัว แพะ มักจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง พื้นดินที่เปียกชื้น ประชาชนอาจได้รับเชื้อโรคดังกล่าวจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือ แช่น้ำเป็นเวลานานได้ โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการไชเข้าทางผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หลังจากติดเชื้อประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด อาการระยะแรกจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หากผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้

*****ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวย้ำวิธีการป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนู คือ 1) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้า หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 2) กินอาหารสุกใหม่ เก็บอาหารให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด 3) หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดไม่มีหนูชุกชุม  4) หากมีอาการไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422