17 พฤษภาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นพาณิชย์เศรษฐกิจ

สอวช. ศึกษางานโอทอปเทรดเดอร์อยุธยา เตรียมปรับแผน พัฒนา ยกระดับรายได้ชาวบ้าน ลดเหลื่อมล้ำ หลุดพ้นปัญหาความยากจน

*****พระนครสรีอยุธยา..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.65 ดร.สิริพร ทิพยโสภณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารนและเจ้าหน้าที่ สอวช. เดินทางเข้าพบ นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ นายกอุ๊ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทย ณ พุทธอุทยานมหาราช หลวงปู่ทวด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาดูงาน รับฟัง เรียนรู้รูปแบบบริหารจัดการ และกลไกการดำเนินงาน ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนายกอุ๊ ยังได้เชิญ นางยุราวรรณ ขันทอง ประธานโอทอปเทรดเดอร์ จ.อ่างทอง และนายทินกร บุญเงิน พัฒนาชุมชน จ.อ่างทอง เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ ในฐานะที่เพิ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ผลงานส่งเสริมช่องทางการตลาด 100 ร้าน OTOP ไทยยิ้ม โดยรูปแบบผลิตภัณฑ์ สินค้าราคาถูกชิ้นละ 5 บาท และจัดจำหน่ายในร้านค้าชุมชน ร้านโชว์ห่วยทั่วไปในพื้นที่ สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้ 2 ล้านบาทต่อปี

*****ดร.สิริพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้เข้าดูงานที่ ห้อง อย.กลาง ซึ่งนายกอุ๊ ได้อธิบายว่า เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่าย มีสถาบันการศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาพี่เลี้ยงในการยกระดับมาตรฐานการผลิตแบบครบวงจร จนกระทั่งถึงการจัดจำหน่าย ถือเป็นต้นแบบแห่งแรกขององค์กรปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย ที่สามารถขยายผลจนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ และเข้ารับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมงานพัฒนาชุมชนที่มีความโดดเด่น จากการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสกระจายรายได้สู่ชุมชนให้กับทุกคนอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อผลงาน “ศูนย์นวัตกรรมพัฒนามาตรฐานอาหารปลอดภัย” หรือ ห้อง อย.กลาง ที่ช่วยให้ชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับโดยสามารถขอเลขมาตรฐาน อย.ได้ โดยชาวบ้านไม่ต้องลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพียงนำวัตถุดิบและฝีมือมาทำเท่านั้น

*****สำหรับห้อง อย.กลาง ถือเป็นต้นแบบแห่งแรกขององค์กรปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยที่สามารถขยายผลไปได้ทั่วประเทศ หลายครั้งหน่วยงานต่าง ๆ มักเอาโครงการมาให้ชาวบ้านทำ สุดท้ายเมื่อมีผลผลิตออกมา ก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน บางคนลงทุนทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง หน่วยงานของรัฐออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม แต่ในกระบวนการผลิต การขอขึ้นทะเบียน อย. และจัดจำหน่าย ชาวบ้านต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่รู้เมื่อไรจะได้คืนทุน แต่ ห้อง อย.กลาง ถ้ามีสินค้าอยู่แล้ว ก็มาทำมาตรฐาน อย. เพื่อนำผลิตและจำหน่ายได้ โดยชาวบ้านเสียค่าเช่าสถานที่เป็นค่าไฟ ค่าเครื่องจักร วันละ 300 บาท และหากมีออเดอร์เป็นจำนวนมาก ก็สามารถจ้างคนงานมาเองได้

*****ดร.สิริพร กล่าวว่า ในส่วนของ สอวช. ได้ดำเนินโครงการสร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ เพื่อให้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลวิเคราะห์สภาพปัญหากำหนดแนวทางและจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่นำร่องที่เป็นครัวเรือนที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ยากจน โดยมีการศึกษาในพื้นที่ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ยกระดับรายได้ สนับสนุนการสร้างอำนาจต่อรองและสร้างช่องทางการตลาดในระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งขึ้น ตลอดจนการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังดำเนินการใน 2 พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ตำบลดอยงาม อำเภอพาน ประชาชนในพื้นที่มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง สามารถผลิตสินค้าและนำเข้าสู่ช่องทางการตลาดได้ อีกพื้นที่คือ ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น สอวช. ได้ทดลองโครงการนำร่อง 3 โครงการคือ โครงการพัฒนาเทคนิคการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและช่องทางการตลาด และโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกสมุนไพร

*****โดย สอวช. จะศึกษากระบวนการและช่วยสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศที่สำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมชุมชน ตลอดจนกำหนดบทบาทและออกแบบกลไกและมาตรการสนับสนุนให้ภาคีต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ในการยกระดับศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมให้กับชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนขยายตัวอย่างเข้มแข็ง เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ โดยเฉพาะกับประชากรกลุ่มฐานรากในชุมชน

*****รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ ตลอดจนทราบถึงเครือข่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้องว่า ได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชนได้อย่างไร และได้รับมุมมองใหม่จาก นายกอุ๊ อย่างมาก โดยเฉพาะการจัดตั้ง ห้อง อย.กลางในพื้นที่ ซึ่งเป็นโมเดลที่ดีมาก  สอวช. เองก็ต้องนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการดูงานครั้งนี้ ไปปรับแผนการทำงานกับทางสถาบันการศึกษา และอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ในการทำงานกับชุมชนที่ต้องยึดชุมชนเป็นฐาน และสนับสนุนต่อยอดในสิ่งที่ชุมชนถนัด และทำได้ดีที่สุด ทั้งนี้ต้องรู้ด้วยว่า ตลาดของพวกเขาอยู่ที่ไหน จากนั้นทางสถาบันการศึกษาจะเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนการใช้บริการ pilot plant ในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนออกสู่ตลาดต่อไป