update newsข่าวเด่นวัฒนธรรมศาสนา-วัฒนธรรม

ชาวบ้านแห่ร่วมพิธีโบราณ “แต่งแก้” ชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง หลังสืบทอดกันมาเกือบ 200 ปี

*****ราชบุรี..ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังทราบว่าทางวัดจัดให้มีพิธีแต่งแก้ ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณของชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง ที่สืบทอดกันมาเกือบ 200 ปี โดยมีประชาชนจากทั่วสารทิศ เดินทางมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก เพื่อสะเดาะเคราะห์และเสริมดวงชะตาในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

*****โดยมีนายณัฐวุฒิ นาคน้อย ชาวบ้านที่ศึกษาและรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายลาวเวียงบ้านวัดโบสถ์ ซึ่งได้นำคัมภีร์ใบลานที่จารจารึกบทสวดแต่งแก้อายุกว่า 100 ปี ของหลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ พระเกจิสายวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมเลื่องชื่อของ อ.โพธาราม มาให้ผู้สื่อข่าวได้รับชม ก่อนเปิดเผยว่า พิธีแต่งแก้ ถือเป็นวัฒนธรรมความเชื่อเก่าแก่ ของชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง ที่มีการสืบทอดและส่งต่อกันมา ตั้งแต่ครั้งอพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือน จากเมืองเวียงจันทน์เข้ามาในประเทศไทยในสมัยธนบุรี  โดยที่ชุมชนวัดโบสถ์ได้ถือปฏิบัติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ปี ปัจจุบันมีพระครูคุณสารานุกูล เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เป็นผู้สืบทอด

*****สำหรับพิธีแต่งแก้ ผู้ที่มาเข้าพิธีจะต้องแจ้งวันเดือนปีเกิด เพื่อตรวจดูเทวดาพระเคราะห์เสวยอายุ และพระเคราะห์แทรก จากนั้นจึงจุดธูปบูชาตามกำลังพระเคราะห์ ที่เข้ามาเสวยและแทรกอายุ โดยมีเครื่องบูชาพระเคราะห์ ประกอบด้วยข้าวตอก ดอกไม้ และตุ๊กตาประจำราศี ซึ่งถูกจัดวางไว้ในกระทงตามกำลังของแต่ละวัน จากนั้นนำ “ด้ายเทียน” มีขนาดความยาวเท่ากับเส้นรอบศีรษะ โดยให้จำนวนรอบวงมากกว่าอายุปัจจุบัน 1 ปี จากนั้นดึงด้ายจากกลางหน้าผากลงมาถึงกึ่งกลางสะดือ เสร็จแล้วจึงม้วนด้ายให้มีลักษณะเป็นแท่งเทียน โดยระหว่างที่พระสงฆ์สวดพระคาถาบูชาพระเคราะห์ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องจุดไฟที่ด้ายเทียน เมื่อพระสงฆ์กล่าวพระคาถาจบลง แต่ละคนก็จะเป่าดับไฟ แล้วเอาไปแช่ในขันน้ำมนต์ เพื่อให้เคราะห์และสิ่งไม่ดีดับไปพร้อมกับไฟนี้ จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีอาบน้ำมนต์ให้กับผู้เข้าร่วมพิธี

*****ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง จะนิยมทำพิธีแต่งแก้ เพื่อสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา เสริมดวงชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และด้วยการสืบทอดพิธีมาอย่างยาวนาน ทำให้มีประชาชนจากทุกเชื้อชาติ มาทำพิธีกันอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างสงกรานต์ และเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีประชาชนเดินทางมาอย่างเนืองแน่น เพราะเชื่อว่าจะได้ขับไล่สิ่งไม่ดีก่อนก้าวข้ามปีใหม่ ทั้งนี้ ทางวัดจะจัดทำพิธีขึ้นทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 – 11.00 น. ยกเว้นวันพระ