4 พฤษภาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศสิ่งแวดล้อม

เมืองแพร่เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง

***แพร่…ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 3 ก.พ. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอวังชิ้น จ.แพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.แพร่ เป็นประธานการประชุมการตรวจติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของพื้นที่ อ.วังชิ้น

***ที่ประชุมนายวิทิต เที่ยงไทย นายอำเภอวังชิ้น นำเสนอการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยทาง อ.วังชิ้น มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ขึ้นที่ว่าการ อ.วังชิ้น ตั้งศูนย์บัญชาการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการประชุมศูนย์เป็นประจำทุกเดือน มีแผนเผชิญเหตุไว้รองรับ สำหรับการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ และเครื่องจักรกล มีรถบรรทุกน้ำของ อปท.  10 คัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้แก่ อปพร. 600 คน อส. 10 คน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  770 คน เครื่องสูบน้ำของ อปท. 20 เครื่อง

***ส่วนการเตรียมการในพื้นที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้น มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น ทำนบกระสอบทราย ขุดเจาะบ่อบาดาล ขุดสระ แจ้งประชาชนงดการปลูกพืช หรือปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และใช้น้ำอย่างประหยัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับประชาชนจัดหาซ่อมแซมภาชนะเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สั่งการให้รถบรรทุกน้ำของ อปท. เตรียมพร้อมแจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภค แก่ประชาชนผู้ประสบภัยแล้งประสาน อบจ.แพร่ ทางหลวงชนบท และหมวดการทางวังชิ้น ขอสนับสนุนรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภคในหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง กรณีที่รถบรรทุกน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เพียงพอ

***โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยมาก ได้แก่ ต.สรอย ต.ป่าสัก ต.แม่ป้าก และต.นาพูน ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยน้อยได้แก่ ต.วังชิ้น ต.แม่พุง ต.แม่เกิ๋ง คาดการณ์พื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงปัญหาภัยแล้งปี 2564 ได้แก่ ต.แม่เกิ๋ง พืชที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลแม่ป้าก ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ถั่วลิสง ต.วังชิ้น ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลป่าสักได้แก่ ส้มเขียวหวาน ไผ่ และตำบลนาพูน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน

***ขณะที่ การเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อ.วังชิ้น แต่งตั้งคณะกรรมการประจำศูนย์บัญชาการณ์ที่ว่าการอ.วังชิ้น จัดตั้งศูนย์อำนวยการระดับท้องถิ่น  8 แห่ง จัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวนการควบคุมไฟป่าเคลื่อนที่จำนวน 2 ชุดๆ ละ 15 คน จัดตั้งชุดอาสาดับไฟป่าหมู่บ้าน  77 ชุดๆ ละ 10 คน จัดชุดสนับสนุนการปฏิบัติการประจำตำบล 7 ตำบล จัดตั้งด่านวันจันทร์ทุกหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสายหอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน ทุกอปท. จัดตั้งธนาคารใบไม้ 7 ตำบล บูรณาการกับทุกภาคส่วน และการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ฝึกอบรมประชาชน จากนั้นได้มีการมอบหมายให้คณะทำงานเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยแล้ง อาทิ การขุดลอกอ่างแม่ป้ากหมู่ 9 ต.แม่ป้าก