2 พฤษภาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศสิ่งแวดล้อม

ภาคีเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา ร่วมกันจัดงาน ครบรอบ 2 ปี สืบชะตาแม่น้ำแม่ลาหลวง สู่การคัดค้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์

*****แม่ฮ่องสอน..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคีเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา ร่วมกันจัดงาน ครบรอบ 2 ปี สืบชะตาแม่น้ำแม่ลาหลวง สู่การคัดค้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์  บริเวณพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ บริเวณพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรต์ บ้านห้วยมะกอก ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อปกป้องสายน้ำ ปกป้องผืนป่าและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ เพราะแม่น้ำแม่ลาหลวงและแม่น้ำลาเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนให้พื้นที่และยังเป็นต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย อาทิ แม่น้ำยวม แม่น้ำเมย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน  ที่อำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยในงานมีมวลชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและภาคีเครือข่ายในภาคเหนือกว่า 300 คน  มาร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นสักขีพยานและแสดงพลังร่วมกันคัดค้านเหมืองแร่ฟรูออไรต์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เริ่มด้วย พิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำแม่ลา ตามพิธีกรรมทางความเชื่อของชุมชนทั้งสี่ ความเชื่อ ได้แก่ ศาสนาคริสต์คาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ศาสนาพุทธ และความเชื่อดั้งเดิม

*****โดยนายนพวิทย์ โชติเกษตรกุล ตัวแทนเยาวชนในพื้นที่แม่ลาน้อย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องหลายๆที่มาร่วมงานในวันนี้ รวมถึงพี่น้องเครือข่ายภาคีต่างๆ ในงานวันนี้เป็นการจัดงานครบรอบ 2 ปีสืบชะตา มีจุดประสงค์ 3 ข้อดังนี้1.เพื่อสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชนและเครือข่ายรักษ์ลุ่มแม่น้ำลา 2.เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่แม่น้ำแม่ลาหลวง 3.เพื่อแสดงออกถึงว่าคนแม่ลาน้อยไม่ต้องการเหมืองแร่ฟลูออไรต์เพราะสร้างปัญหาเยอะแยะมากมาย ซึ่งเหมืองเคยทำเมื่อ20ปีที่แล้ว ถ้ามันดีจริงพวกเราคงไม่ออกมาคัดค้านเพราะเราได้รับผลกระทบกับมันมาก่อน

*****นอกจากนั้นยังมีเวทีเสวนา “เหมืองแร่ฟลูออไรต์กับวิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำลาหลวง สะท้อนประเด็นการต่อสู้ของพี่น้องแม่ลาน้อย โดยมีนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เข้าร่วมกิจกรรม โดยกล่าวว่าในเชิงกฎหมายนโยบายเราสามารถตรวจสอบได้ว่าการประกาศเป็นเหมืองแร่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและแก้ไข 2. สส สามารถเสนอตรวจสอบได้ว่ากระบวนการทำเหมืองแร่มันถูกต้องมั้ย อำนาจนี้สามารถเรียกหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และให้พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งผมพยายามใช้บทบาท สส.ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ที่เราจะต้องมานั่งพูดคุยกัน ในอีกประเด็นเวลาเราได้ยินคำว่าเวลาจะทำเหมืองแร่เพื่อที่จะพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมันเป็นการพัฒนาแบบเก่าที่ต้องทำโครงการใหญ่ๆ การพัฒนาแบบนี้เป็นตามแผนพัฒนา 2504  ที่เราไม่สามารถอยู่กับป่าได้ การพัฒนาที่จะทำเหมืองแร่มันตกไม่ถึงชาวบ้าน ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านทำได้จริงๆคือยาม คนขุดในเหมือง เราจะได้จริงๆ สิ่งที่เรามีในที่นี้คือป่า ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในประเทศที่เจริญแล้วจะมีการกระจายอำนาจในการพัฒนา ท้องถิ่นเข้ามามีอำนาจในการตัดสิน รวมถึงอำนาจการตัดสินใจในทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในระบบกฎหมายมันยังไม่ถึงขนาดนั้น ชาวบ้านรับได้แค่ผลกระทบ ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจ

*****อีกอย่างที่อยากเสนอคือการต่อสู้แค่ชุมชนเดียวมันไม่พอ เพราะเราไม่มีเครื่องมือไปสู้กับนายทุนใหญ่ ในโซนนี้อย่างน้อย 3 พื้นที่อย่างเหมืองแร่แม่ลาหลวง โครงการผันน้ำ เหมืองแร่แม่สะเรียง แม้ว่าจะอยู่คนละที่แต่มันคือความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร ที่รัฐกำลังเอาไปประเคนให้นายทุนและกิจกรรมสุดท้ายของวันนี้คือการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ โดยน้องเยาวชนในพื้นที่แม่ลาน้อย  หลังจบกิจกรรมบนเวทีเสร็จแล้วมวลชนที่เข้าร่วมงานได้ร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟรูออไรต์และปล่อยปลาลงแม่น้ำแม่ลา เพื่อแสดงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนดินผืนป่าสายน้ำแห่งนี้สืบทอดให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต