2 พฤษภาคม 2024
Latest:
update newsข่าวเด่นข่าวในประเทศสิ่งแวดล้อม

บ.ไออาร์พีซีฯ รับฟังความคิดเห็นทบทวนร่างมาตรการป้องกันประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการขยายกำลังการผลิตโพรพิลีนเพิ่ม 180,000 ตันปี เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน

*****ระยอง..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิม พุ่มไม้ ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของ ปชช.ครั้งที่ 3ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.66  เพื่อทบทวนร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของ ปชช.ในชุมชนอย่างรุนแรง(อีเอชไอเอ) โครงการขยายกำลังการผลิตโพรพิลีน ของ บ.ไออาร์พีซี จก.(มหาชน) ซึ่งโครงการตั้งอยู่ในเขตประกอบการไออาร์พีซี พื้นที่ 3.92 ไร่ ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556

*****ปัจจุบันโครงการจัดเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นที่มีสารโพรพิลีนเป็นผลิตภัณฑ์หลัก เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติก นำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แผ่นฟิล์ม อุปกรณ์สำนักงาน ส่วนประกอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และส่วนประกอบชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งกำลังการผลิตปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 ตัน/ปี หรือ 300 ตัน/วัน โดยโครงการมีแนวทางที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 100,000 ตัน เป็น 180,000 ตัน/ปี เพิ่มขึ้น 80,000 ตัน/ปี หรือเพิ่มจาก 300 ตัน เป็น 493.15 ตัน/วัน มีแนวทางในการขยายกำลังการผลิตใน 3 ส่วน คือ 1.เพิ่มแหล่งรับวัตถุดิบใหม่ ที่มีสารบิวทีนเป็นองค์ประกอบมากกว่าแหล่งวัตถุดิบเดิม ทำให้วัตถุดิบสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากขึ้น 2.เพิ่มอัตราการป้อนวัตถุดิบในหน่วยผลิตเดิม ให้สอดคล้องกับความสามารถสูงสุดของเครื่องจักร โดยไม่มีการปรับปรุงหรือติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม และ 3.เพิ่มวันดำเนินการต่อปีจาก 333 วัน/ปี เป็น 365 วัน/ปี เพื่อให้สอดคล้องกับประสบการณ์การตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องจักรตามแผนการบำรุงรักษาของโครงการ โดยยังคงแผนการซ่อมบำรุงในเชิงป้องกันเต็มประสิทธิภาพเช่นเดิม ทุก 5-6 ปี

*****โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าว ลักษณะโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) ทั้งนี้ตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานฯ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร(สผ.) กำหนดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอย่างน้อย จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนร่างรายงานฯ และมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงร่างรายงานฯ และมาตรการฯ ให้มีความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

นิตยา  ทุมมานนท์/รายงายงาน