4 พฤษภาคม 2024
Latest:
update newsการศึกษาข่าวเด่นข่าวในประเทศ

“กิติพงค์” ชี้ เทคโนโลยีสร้างสรรค์ คือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ จี้ รัฐเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา ยก จีน เกาหลี สหรัฐ อินเดีย เติบโตก้าวกระโดด จากการใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิต

*****กรุงเทพฯ..ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติเชิงสร้างสรรค์ ราชมงคลกรุงเทพวิชาการ 2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในวิทยากร บรรยายเกี่ยวกับ “ นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์”

*****ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า นโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาจากไอเดียดั้งเดิมผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และต่อมารัฐบาลวางเป้าหมายให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน และมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทุกปี ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจีดีพีประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ที่รัฐบาลลงทุน R&D เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเติบโตของเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และถ้าเทียบกับทั่วโลก ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับ จีน สหรัฐ กลุ่มประเทศยุโรป และอินเดีย ซึ่งประเทศไทยเองก็ไปในทิศทางเดียวกัน โดยการใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในแต่ละภาคส่วน

*****ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงโอกาสของอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นเทรนด์โลกที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม EV ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตแบตเตอรี่แพ็กและเซลล์แบตเตอรี่ รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะปูทางไปสู่ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในอนาคต นอกจากนี้ในส่วนของสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงนั้น จะต้องเข้าไปส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การลงทุนและความต้องการของประเทศ เนื่องจากเรามีแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมารองรับเพิ่มมากขึ้น

*****นอกจากนี้ ยังมองว่าการผลิตนักสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนท์ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่สำคัญของประเทศไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันหลักสูตรที่เปิดสอนส่วนมากยังเป็นหลักสูตรเก่า ขาดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ผู้จบการศึกษามีทักษะความสามารถไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการ upskill/reskill/new skill เพื่อผลิตกำลังคนรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและเข้าสู่เส้นทางอาชีพ โดยได้พัฒนา Inclusive Higher Education Platform ให้มีโอกาสใช้ประโยชน์ หรือ เข้าถึงอุดมศึกษาที่เหมาะสม และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรค่าตอบแทนสูงด้วย

*****ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งโอกาสสำคัญของประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่แบ่งออกเป็นหลายด้าน ทั้ง อาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food และ Food Ingredients) กลุ่มอาหารใหม่ (Novel Food) ได้แก่ กลุ่ม Plant-based Protein กลุ่ม Insect Protein และกลุ่มเนื้อเพาะเลี้ยง (Cultured Meat) รวมไปถึง Organic Food และ กลุ่มอาหารทางการแพทย์ (Medicinal Food) นอกจากนี้ งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ซึ่งมีโปรแกรมด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ จีโนมิกส์ ควอนตัม อาหารแห่งอนาคต การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชีววิทยาสังเคราะห์ อวกาศ CCUS ฯลฯ ซึ่งในทุกสาขาต้องใช้นักวิจัยและทำการศึกษาที่ล้ำหน้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดจังหวัดสีเขียวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเลือกจังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบในการทำแซนด์บ็อกซ์ร่วมกับภาคเอกชน

*****ผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้ยกนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-driven enterprises: IDEs) ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งกำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน ความรู้ รวมถึงเครือข่ายการทำงาน โดยมีแนวทางการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐกับภาคเอกชนในรูปแบบ Holding Company เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มีรัฐให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ที่พร้อมสนับสนุน ผู้ประกอบการให้เพิ่มมูลค่าผลผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไปสู่เป้าหมายผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย เพื่อปลดล็อกประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง